ติ่งเนื้อ คอดำ เบาหวาน และอาหารคีโต

ติ่งเนื้อ คืออะไร?

ติ่งเนื้อ (Skin Tags) หรือ ถ้าจะเป็นภาษาทางการแพทย์ก็จะเรียกว่า Acrochordon มีลักษณะที่เด่นคือ เป็นติ่งเนื้อที่เกิดมาบนผิวหนัง โดยส่วนใหญ่จะพบบริเวณคอ รักแร้ รวมถึงลำตัว ซึ่งติ่งเนื้อนี้สามารถเกิดและพบได้ในเกือบทุกวัย โดยจะพบมากในผู้ใหญ่ โดยบางคนอาจจะไม่พบติ่งเนื้อจนอายุเข้า 50 – 60 ปีก็เป็นได้

โดยทั่วไปติ่งเนื้อ ไม่จัดเป็นเนื้อร้าย แล้วจะไม่พัฒนาจนเป็นมะเร็งผิวหนัง

ซึ่งติ่งเนื้อเหล่านี้มักจะไม่นำไปสู่อาการเจ็บปวดใดๆ เพียงแค่อาจจะทำให้เกิดอาการรำคาญ หรืออาจจะเสียดสีเวลาสวมใส่เสื้อผ้าต่างๆ

โดยวิธีการรักษาก็จะต้องเป็นทางการแพทย์ คือการผ่าตัด จี้ติ่งเนื้อ (Cauterization) หรือบำบัดด้วยความเย็นจัด (Cryotherapy)

ติ่งเนื้อเกิดจากอะไร? เกี่ยวกับโรคเบาหวานหรือไม่?

สาเหตุของการเกิดติ่งเนื้อนั้นยังไม่มีใครทราบแน่ชัด เนื้อจากมันมักจะเกิดตามข้อ เช่น คอ และรักแร้ การเสียดเสียก็อาจจะเป็น 1 ในหลายๆ สาเหตุได้ อย่างไรก็ตามเป็นที่ทราบกันว่าติ่งเนื้อนั้นสร้างมาจากเส้นเลือดและคอลลาเจนที่อยู่บริเวณผิวหนังชั้นนอก

โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดติ่งเนื้อก็มีเช่น ไวรัส HPV ภาวะต้านอินซูลิน ภาวะอ้วน การตั้งครรภ์ รวมถึงพันธุกรรม

โดยใน 5 ปัจจัยนี้ ก็มีที่เราอาจจะไม่สามารถควบคุมได้อยู่ 3 ปัจจัย คือ เชื้อไวรัส การตั้งครรภ์ และพันธุกรรม ในส่วนของภาวะต้านอินซูลินกับภาวะอ้วนนั้น บางคนอาจจะไม่ทราบว่าทั้งสองภาวะเป็นปัจจัยหลักที่นำไปสู่โรคที่เราเรียกว่าโรคเบาหวานได้อีกด้วย

โรคเบาหวานคืออะไร?

โรคเบาหวานน่าจะเป็นโรคที่นิยมเป็นกันมากในสังคมไทยยุคปัจจุบัน อีกโรคที่นิยมเป็นกันมากก็คือความดัน ทำให้ถ้าคุณเป็นผู้มีอายุ หลายต่อหลายครั้งมักจะเจอกับคำถามสุขภาพเวลาทำแบบประกันภัย หรือการไปหาหมอ มักจะถูกถาม ก็คือคุณเป็นโรคเบาหวานหรือความดันหรือไม่

โรคเบาหวาน หากสรุปง่ายๆ ก็คือโรคที่เกิดจากภาวะที่ร่างกายมีปริมาณน้ำตาลในเลือดที่สูงและมากเกินไป ซึ่งเป็นผลมาจากร่างกายไม่สามารถจัดการกับน้ำตาลที่เราทานเข้าไปได้ทันและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ในกรณีของคนปกติเมื่อเราทานอาหารที่มีน้ำตาลเข้าไป ตับอ่อนจะสร้างฮอร์โมนที่เรียกว่า อินซูลิน (Insulin) โดยอินซูลินก็เหมือนกับสัญญาณมือถือที่จะโทรไปบอกให้อวัยวะต่างๆ ในร่างกายช่วยดูดซับน้ำตาลจากกระแสเลือด เพื่อที่ร่างกายจะได้ใช้ไปเป็นพลังงานต่อไป อย่างไรก็ตามหากคุณเป็นโรคเบาหวานก็คือการที่ร่างกายไม่สามารถสร้างสัญญาณนี้ได้ (กรณีเบาหวานประเภทที่ 1) หรือ สัญญาณส่งไปไม่มีประสิทธิภาพ (กรณีเบาหวานประเภทที่ 2) ผลที่ตามมาก็คือน้ำตาลในเลือดจึงสูงกว่าปกติ

ภาวะต้านอินซูลิน คืออะไร?

หากเปรียบเทียบจากบริบทด้านบน ภาวะต้านอินซูลินก็คือภาวะที่ร่างเริ่มรับสัญญาณหรือฮอร์โมนจากตับอ่อนได้ไม่ดี จนทำให้มันถูกเรียกว่า ต้าน + อินซูลิน (Insulin Resistance) ซึ่งนี่เป็นสาเหตุหลักของเบาหวานประเภทที่ 2 นั่นเอง

ถ้าอ่านแล้วงง ลองจินตนาการไปพร้อมๆ กับผม โดยทุกๆ วัน เวลาเราทานอาหารที่มีน้ำตาลเข้าไป (น้ำตาลในที่นี้ไม่จำเป็นต้องมาจากน้ำตาลทรายนะครับ ของอะไรก็ตามที่คาร์โบไฮเดรตเมื่อถูกย่อยต้องถูกแปลงเป็นกลูโคส หรือก็คือน้ำตาลประเภทหนึ่ง) โดยเมื่อน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดมีปริมาณมากขึ้น สิ่งที่ร่างกายทำคือการสั่งการให้ตับอ่อน ผลิตฮอร์โมนอินซูลินหรือการส่งสัญญาณไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมทั้งเซลล์และกล้ามเนื้อ ให้ดูดซึมน้ำตาลในกระแสเลือดเข้าไป ซึ่งภาวะนี้ก็คือภาวะปกติที่ร่างกายจัดการกับน้ำตาลในกระแสเลือด

https://www.dietdoctor.com/the-biochemistry-of-insulin-resistance

อย่างไรก็ตามเมื่อทานน้ำตาลมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่เริ่มตามมาก็คือ ร่างกายก็ต้องสั่งให้ตับอ่อนส่งสัญญาณมากและถี่ขึ้น แต่ในเมื่อเซลล์หรือกล้ามเนื้อเรามีพื้นที่จำกัด ก็ทำให้การบริหารจัดการน้ำตาลเป็นไปได้ช้า ทำให้น้ำตาลในเลือดลดช้ากว่าที่ควรจะเป็น ร่างกายก็ต้องสั่งตับอ่อนให้ส่งสัญญาณถี่ขึ้นไปอีก ผลที่ตามมา คือ ในระยะแรกเซลล์และกล้ามเนื้อ ก็อาจจะรับน้ำตาลเข้ามาเก็บไว้ได้ แต่เมื่อใกล้จะเต็ม การรับน้ำตาลก็จะเริ่มช้าลงอีก ทำให้ร่างกายก็ต้องกลับสั่งตับอ่อนอีก เมื่อเหตุการณ์นี้เกิดบ่อยๆ ก็ทำให้ คนรับสัญญาณที่เซลล์ (Insulin Receptor) เริ่มคุ้นชินกับการทำงานที่ต้องได้รับสัญญาณมากๆถึงจะทำงานได้ ซึ่งนี้ก็นำไปสู่ภาวะที่เรียก ภาวะต้านอินซูลิน นั่นเอง

ในกรณีเลวร้ายสุด ถ้าหากยังทานน้ำตาลเยอะๆ อยู่เสมอเข้าไปอีก ภายในเซลล์ก็จะเต็มไปด้วยน้ำตาล ต่อให้มีสัญญาณมากมายแค่ไหน ก็ไม่สามารถรับน้ำตาลได้อีกแล้ว นั่นก็นำไปสู่อาการขั้นเกือบสุดท้ายของโรคเบาหวานที่จะพบบ่อย เช่น เลือดไหลไม่หยุด ชาตามปลายประสาท เซลล์ประสาทถูกทำลาย รวมถึงอาการตาบอด เป็นต้น ผลเหล่านี้ก็มักมาจากเซลล์ต่างๆ ได้รับน้ำตาลมากเกินไป ทำให้โครงสร้างในเซลล์เริ่มเสื่อมสภาพและด้อยประสิทธิภาพ จนทำให้เซลล์ตายไปนั่นเอง และรวมถึงปริมาณน้ำตาลในเลือดที่สูงตลอดเวลา

ดังนั้นวิธีการบรรเทา / (รักษา?) โรคเบาหวานในปัจจุบัน ก็มักจะเริ่มจาก

  1. การเปลี่ยนวิถีการทาน (คล้ายการลดความหวานของอาหาร ร่างกายก็มีเวลาใช้น้ำตาลมากขึ้น)
  2. การให้ยา (ก็เหมือนกับการช่วยให้สัญญาณมีประสิทธิภาพขึ้น) และ
  3. การฉีดอินซูลิน (ก็เหมือนกับการนำสัญญาณจากภายนอกเข้ามาสั่งการเพิ่ม)

ติ่งเนื้อกับภาวะต้านอินซูลิน

ในงานศึกษาปี 2007 และ 2015 พบว่า คนที่มีติ่งเนื้อจำนวนมากในร่างกาย มีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคเบาหวาน และ การศึกษาปี 2010 พบว่า ติ่งเนื้อนั้นเกี่ยวข้องอย่างมีนัยยะกับภาวะต้านอินซูลิน

ติ่งเนื้อและคอดำ

Acanthosis nigricans

จะรู้ได้อย่างไรว่าติ่งเนื้อที่เราเจอนั้นเกี่ยวกับภาวะดื้ออินซูลิน บทความปี 2010 พบว่าติ่งเนื้อที่เกี่ยวกับภาวะดื้ออินซูลินนั้น มักจะมาพร้อมกับการที่ผิวหนังบริเวณข้อพับเริ่มหนาและมีสีดำ (Acanthosis nigricans) ซึ่งโดยมากจะพบได้บริเวณลำคอ หากคุณเจอติ่งเนื้อและข้อพับเริ่มดำ ก็จะบ่งบอกได้ว่าติ่งเนื้อนั้นเกี่ยวข้องกับภาวะอินซูลิน

ข้อทิ้งท้าย

คอดำ ติ่งเนื้อ

ภาวะต้านอินซูลิน เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่นำไปสู่การเกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 2 โดยมากแล้วภาวะต้านอินซูลินเป็นสิ่งที่ตรวจพบได้ยาก และมักจะเกิดก่อนหน้าที่นำไปสู่ภาวะต่างๆ ในอนาคตได้

หากคุณมีคอดำและติ่งเนื้อโผล่ ออกมา ก็ขอให้ตระหนักว่า มันอาจจะไม่ใช่เพราะคุณรักษาสุขอนามัยหรือทำความสะอาดไม่ดี แต่มันอาจจะการที่ร่างกายเริ่มส่งสัญญาณออกมาทางผิวหนัง ซึ่งนี่ควรเป็นปัจจัยหนึ่งที่คุณควรเริ่มพิจารณาตัวของคุณ โดยอาจจะเริ่มจากปรับวิถีการทาน ซึ่งมีงานวิจัยมากมายที่บ่งชี้ว่าการทานอาหารคีโตนั้นสามารถที่จะช่วยลด จนกระทั่งรักษาภาวะต้านอินซูลินได้ อย่างไรก็ตามหากคุณไม่สามารถทานอาหารคีโต การปรับวิถีการทานโดยลดการทานหวานก็อาจจะช่วยได้เช่นกัน

ที่มา

What’s the Link Between Skin Tags and Diabetes?

How Are Skin Tags Removed? Plus Causes, Diagnosis, and More

Leave a Comment