Beyond Weight Loss: ประโยชน์ของอาหารคีโต
นอกเหนือจากลดน้ำหนัก คุณสมบัติทางการรักษาจากอาหารคีโต
ในเรื่องนี้เราจะมาคุยกันถึงประโยชน์ของอาหารคีโต หรืออาหารที่มีการทานคาร์โบไฮเดรตในปริมาณน้อย โดยเราจะแบ่งเป็นสองตอนนะครับ ตอนแรกเราจะมาคุยกันเกี่ยวกับประโยชน์ที่มีหลักฐานสนับสนุนอยู่เยอะ หรือ well-supported by scientific evidences และอีกตอนเราจะคุยเกี่ยวกับประโยชน์ที่มีงานวิจัยสนับสนุนบ้างหรือพึ่งมีการค้นพบประโยชน์นั้นๆ
1. ประโยชน์ด้านการลดน้ำหนัก
เป็นสิ่งที่ทุกคนยอมรับและเข้าใจตรงกันว่าประโยชน์ของอาหารคีโตอย่างหนึ่งนั้น คือการลดน้ำหนัก อย่างไรก็ตามยังมีข้อขัดแย้งว่าทำไมอาหารแนวนี้ถึงประสบความสำเร็จในการช่วยลดน้ำหนักมากกว่าอาหารแนวอื่นๆ
นักวิจัยค่ายหนึ่งมองว่า อาหารแนวนี้ไม่ได้ไปส่งผลอะไรต่อร่างกายเป็นกรณีพิเศษ เว้นแค่มันช่วยให้ผู้ทานรู้สึกอิ่ม หรือ มี satiety effect ซึ่งเป็นผลมาจากทานอาหารจำพวกโปรตีน และไขมัน
นักวิจัยอีกค่ายกลับมองว่าอาหารแนวนี้ จริงๆ แล้วมันส่งผลต่อระบบการเผาผลาญของร่างกายโดยตรง
กฎข้อที่หนึ่งของอุณหพลศาสตร์ หรือ Thermodynamic กฎแห่งการรักษาพลังงาน ซึ่งก็สิ่งที่เราๆท่านๆ เคยได้ฟังมาว่า ถ้าปริมาณแคลลอลี่ที่ใช้น้อยกว่าแคลลอลี่ที่เผาผลาญ ก็จะทำให้น้ำหนักลดได้ (ก็คงต้องบอกไว้ตรงนี้นะครับว่ามันจริงบางส่วน และถ้าผู้อ่านมาสนใจการลดน้ำหนักแนวนี้ ผมเดาว่าคุณก็คงเคยลองควบคุมปริมาณอาหารมาแล้ว รวมถึงการทานอาหารคลีน ซึ่งสุดท้ายมันคงไม่ได้ผลเท่าที่ควรทำให้คุณมาสนใจอาหารแนวนี้แทน)
แต่จริงๆ แล้วกฎข้อนี้นั้นมีข้อบกพร่องอยู่หลายจุด นั่นคือ มันไม่ได้คิดถึงปริมาณสารอาหารเลย เช่น เค้ก 500 แคล มีค่าเท่ากับสลัดและเนื้อ 500 แคล จริงหรือ
ในทางตรงข้ามกับกฎข้อนี้ก็มีงานวิจัยหลายฉบับที่แสงให้เห็นว่าคนที่ทานอาหารคีโตสามารถลดน้ำหนักในช่วง 3-6 เดือนแรกได้ดีกว่าคนที่ทานอาหารปกติหรือครบห้าหมู่
หนึ่งสมมติฐานที่สนับแนวคิดนี้ก็คือ การใช้พลังงานจากโปรตีน มันยากกว่าการใช้พลังงานจากแป้ง ทำให้ร่างกายต้องใช้พลังงานบางส่วนมาเปลี่ยนโปรตีนและไขมันให้เป็นพลังงานก่อนที่ร่างกายจะนำไปใช้ได้
ร่างกายคนเรานั้นต้องการกลูโคสเพียงแค่ 60-65 กรัมต่อวัน โดยปริมาณนี้ในอาหารคีโต ร่างกายสามารถสร้างมาเองได้จากกระบวนการที่มีชื่อว่า gluconeogenesis ซึ่งใช้โปรตีนและกล้ามเนื้อในร่างกายเป็นแหล่งวัตถุดิบ (จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคนที่ขาดอาหารหรืออดหารตัวถึงผอมมาก เพราะร่างกายแปลงกล้ามเนื้อมาสร้างน้ำตาลนั่นเอง – และผู้อ่านก็ไม่ต้องกังวลด้วยว่าร่างกายขาดกลูโคส เพราะคุณจะทานโปรตีนเข้าไปเพียงพอสำหรับกระบวนการนี้อย่างแน่นอน โดยเพื่อให้แน่ใจลอง คำนวณปริมาณสารอาหาร ดูนะครับ)
พลังงานที่กระบวนการ gluconeogenesis ใช้จะอยู่ที่ราวๆ 400-600 kCal/day หรือเทียบเท่ากับการวิ่งที่ความเร็ว 15 กม/ชม เป็นเวลา 30 นาที
ถึงกระนั้นก็ตามมันก็ยังไม่มีงานทดลองที่เชื่อมโยงเรื่อง glucogeneosis โดยตรงกับการทานอาหารคีโต
ด้วยเหตุนี้ ทฤษฏีที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด ก็คือความสามารถของ ketosis ที่ทำให้ลดความหิวได้ โดยอาหารพวกไขมันและโปรตีนจะช่วยให้ร่างกายมีการหลั่งฮอร์โมน ghrelin และ leptin
เรามาสรุปย่อๆกันนะครับ ถึงสาเหตุว่าทำไมอาหารคีโต Ketogenic diet ถึงจะลดได้มากกว่าแนวอื่น โดยลำดับจากข้อที่มีข้อมูลสนับสนุนมากที่สุด ก็จะได้ว่า
- ลดความอยากอาหาร (Reduction in appetite) เนื่องจากโปรตีนทำให้รู้สึกอิ่มมากกว่า โดยการทำงานของสมองที่หลั่งฮอร์โมนสองตัวออกมา คือ ghrelin (เกรลิน) และ leptin (เลปทิน)
- ลดการสร้างไขมัน หรือกระบวนการที่ชื่อว่า lipogenesis และเพิ่มการลดไขมันสะสม หรือ lipolysis แทน
- ลดค่า RQ หรือ The respiratory quotient ซึ่งแสดงถึงการเผาผาญที่ดีโดยอาศัยไขมันเป็นหลัก (ผู้เขียนไม่มีความรู้ในข้อ 3 นะครับสนใจ ลองหาเพิ่มเติมได้ใน wiki)
- ใช้พลังงานไปกับกระบวนการสร้างน้ำตาล หรือ gluconeogenesis และการยังใช้พลังงานในร่างกายบางส่วนเพื่อเผาผลาญโปรตีน และไขมัน เพื่อเปลี่ยนเป็น Ketone Bodies
2. ประโยชน์เกี่ยวกับโรคหัวใจหรือหลอดเลือดหัวใจ
มีงานวิจัยหลายอันที่ชี้ไปถึงประโยชน์ของอาหารแนวนี้ต่อการลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ ในอดีตอาหารแนวนี้ถูกตั้งข้อสงสัยถึงข้อเสียอย่างมากเมื่อเทียบกับอาหารปกติที่ครบห้าหมู่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อสงสัยในเรื่องการเพิ่มของระดับคลอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอร์ไรด์
อย่างไรก็ตามมีงานวิจัยใน วารสารชั้นนำที่พบว่าการลดปริมาณคาร์โบไฮเดรตไปจนถึงระดับที่ทำให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะ Ketosis สามารถที่จะทำให้ปริมาณไขมันเลือดดีขึ้นได้ ดูตัวอย่างอย่างงานวิจัยได้ด้านล่าง [1,2,3]
อาหารแนวนี้อาจจะเพิ่มปริมาณไตรกรีเซอร์ไรด์ในบางกลุ่ม แต่ช่วยลดปริมาณคลอเลอสเตอรอลโดยรวมและเพิ่มปริมาณของไขมันความหนาแน่นมากหรือ HDL
นอกจากนี้อาหารแนวนี้ ยังมีรายงานว่าช่วยเพิ่มขนาดและปริมาตรของ LDL ซึ่งเป็นตัวชี้วัดหนึ่งของความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ นั่นก็คือการลดปริมาณของ VLDL ลง โดยการวัดไขมันในเลือดส่วนใหญ่จะวัดแค่ LDL ซึ่งรวม VLDL ด้วย
เรามาเข้าโหมดวิทยาศาสตร์จ๋ากันหน่อยนะครับ
เอนไซม์หลักในการสร้างคลอเลสเตอรอล ตัวหนึ่งก็คือ 3-hydroxy-3-methylglutaryl–CoA reductase (เป้าหมายของยาพวก statin ที่เอาไว้ลดไขมัน) ซึ่งจะถูกกระตุ้นให้ทำงานด้วย อินซูลิน Insulin ซึ่งหมายความว่าถ้าปริมาณน้ำตาลในเลือดสูง ส่งผลให้ Insulin สูงขึ้นตามก็จะส่งผลให้เกิดการสร้างคลอเลสเตอรอลมากขึ้นตามไปด้วย
ด้วยเหตนี้การลดประมาณอาหารจำพวกคาร์บหรือแป้ง จะนำไปสู่การชะลอในการสร้างคลอเลสเตอรอลภายในร่างกาย นี่จึงน่าจะเป็นเหตุผลว่าทำไมการทานอาหารคีโตจะช่วยให้ไขมันในเลือดอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้น อาหารแนวนี้อาจจะช่วยในการลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ
แต่! หาคุณมีปริมาณคลอเรสเตอรอลที่สูงมากอยู่แล้ว การมาทานแค่ 1-2 เดือนก็ใช่ว่าจะทำให้ทุกอย่างกลับเป็นปกตินะครับ ต้องให้เวลาร่างกายด้วย
*ต้องดูคำว่าปริมาณแป้งที่น้อยและน้ำตาลน้อยจนร่างกายเข้าสู่ Ketosis ให้ดีนะครับ ไม่ใช่กินปกติ ครบห้าหมู่แล้วทานไขมันเข้าเพิ่ม มันจะไม่ได้ช่วยอะไรเลยนะครับ*
3. ประโยชน์เกี่ยวกับโรคเบาหวาน
โรคเบาหวานนั้นจะแบ่งได้เป็นสองประเภทคือ ประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2
โดยประเภทที่ 1 ส่วนใหญ่จะเกิดจากพันธุกรรม สาเหตุไม่แน่ชัด แต่มีอาการคือร่างกายผลิตอินซูลินไม่เพียงพอ อาจเนื่องมาจากเซลล์ในตับอ่อนทำงานไม่สมบูรณ์ ผู้ป่วยประเภทนี้ ห้ามทานอาหารแนวนี้โดยเด็ดขาด เนื่องจากการเพิ่มปริมาณของคีโตนในร่างกายอาจทำให้ท่านเข้าสู้ภาวะ Ketoacidosis ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ประเภทที่ 2 นั้นเป็นเบาหวานที่เราๆท่านๆ รู้จักกัน และมักจะเกิดกับผู้มีอายุที่ชอบรับประทานของหวานมากๆหรือมีน้ำหนักตัวที่สูง โดยประเภทนี้มีสาเหตุหลักมาจากการที่ร่างกายมีภาวะ Insulin Resistance หรือการต้านหรือดื้ออินซูลิน โดยเมื่อเซลล์ในร่างกายคุ้นชินกับน้ำตาลมากเข้า อินซูลินที่ส่งออกมาจากตับก็เริ่มจะทำงานไม่เต็มที่ ทำให้ร่างกายมีปริมาณน้ำตาลสูงกว่าปกติ โดยเบาหวานประเภทนี้จะไม่ได้เกิดกันชั่วค่ำคืน แต่ต้องอาศัยเวลาเป็น 10 ปีในการพัฒนาจนเป็นโรค
อาหารคีโตเข้ามาเกี่ยวข้องกับโรคเบาหวานอย่างไร?
อาหารคีโตจะมีส่วนช่วยในการบรรเทาของโรคเบาหวานประเภทที่ 2 หลังจากนี้ผมจะเรียกว่าโรคเบาหวานเฉยๆ นะครับ
สภาวะการต้านอินซูลินหรือ Insulin Resistance นั้นทำให้บุคคลไม่สามารถใช้พลังงานจากคาร์โบไฮเดรตที่ทานเข้าไปเท่าที่ควร ทำให้สารอาหารส่วนเกินแทนที่เซลล์จะได้ใช้ จะถูกส่งไปที่ตับเพื่อทำการสะสม โดยกระบวนการนี้มีชื่อว่า de-novo lipogenesis หลังจากการสร้างไขมันที่เยอะขึ้นแล้ว ไขมันอิ่มตัวเหล่านี้ก็จะสามารถเดินทางเข้าไปในกระแสเลือด และเพิ่มโอกาสการเกิดโรคเบาหวานและโรคหัวใจให้มากขึ้น
มีงานวิจัยระยะสั้นของ Boden et al. ในปี 2005 โดยผู้รับทดสอบได้รับปริมาณคาร์บที่ต่ำกว่า 20 กรัมต่อวันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ นักวิจัยพบว่า
กลูโคสในพลาสมา ลดลงจาก 7.5 เป็น 6.3 mmol/l
ฮีโมโกลมิน A1c ลดลงจาก 7.3 เป็น 6.8%
และยังมีการเพิ่มของการตอบสนองต่อกลูโคสที่ดีด้วย
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยของ Dashti et al. ในปี 2006 ที่ทำการศึกษาระยะยาวของผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับการทานอาหารแนวคีโต แทนที่อาหารปกติเป็นเวลา 56 สัปดาห์ พบว่าอัตราการลดน้ำหนักและการเผาพลาญในร่างกายดีขึ้นตั้งแต่ สัปดาห์ที่ 12 จนกระทั่งจบงานวิจัยที่สัปดาห์ที่ 56 โดยพบว่า
มีปริมาณน้ำตาลในกระแสเลือดลดลง 51% (glucose -51%)
ครอเลสเตอรอลรวมลดลง 29% (Total Cholesterol -29%)
มีการเพิ่ม HDL หรือที่เราเรียกว่าไขมันดี 63% (HDL +63%)
ลดไขมันไม่ดีหรือ LDL ลง 33% (LDL -33%)
ระดับไตรกลีเซอไรด์ลดลง 41% (Triglyceride -41%)
โดยสรุปผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วนลงพุง Metabolic Syndrome , ภาวะต้านอินซูลิน Insulin Resistance และเบาหวานประเภท 2 จะมีการพัฒนาการของโรคที่ดีขึ้นและตัวชี้วัดของโรคที่ดีขึ้น คืออาการเจ็บป่วยน้อยลง เมื่อมีการทานอาหารคีโต หรืออาหารคาร์บน้อย การพัฒนาของระบบกลูโคสนั้นไม่พัฒนาเพียงจากการงดการทานน้ำตาลเท่านั้น แต่มาจากการที่อินซูลินทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น (Improve Insulin sensitivity)
*แม้จะมีงานวิจัยสนับสนุนมากมาย แต่ถ้าผู้อ่านมีร่างกายที่ไม่แข็งแรงมากและมีโรคประจำตัวมากอยู่แล้ว โดยการทานยาหลายชนิด ผมก็ขอแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อน*
4. ประโยชน์เกี่ยวกับโรคลมบ้าหมู
จริงๆแล้วอาหารคีโต ถูกนำมาใช้อย่างจริงจังครั้งแรกสุดเลยนั้น ไม่ได้นำมาใช้เพื่อจะลดน้ำหนักหรือโรคเบาหวานแต่อย่างใด หากจะต้องย้อนกลับไปที่ปี 1920 เมื่ออาหารคีโตถูกใช้สำหรับเด็กที่มีการลมบ้าหมู (Epilepsy) หรือกลุ่มอาการชัก แต่ถึงการทานอาหารแนวนี้จะได้ผลดีมาก ในราวๆปี 1990 อาหารแนวนี้ก็ถูกลดความนิยมลงที่จะนำมาใช้ทุเลาและรักษาโรคลมบ้าหมู สาเหตุเนื่องมาจากการพัฒนายาที่ดีขึ้น เช่น ยาตระกูล anticonvulsant หรือยาต่อต้านการหดตัวของกล้ามเนื้อแบบไม่เต็มใจ Involuntary contraction
สมมติฐานต่างๆ ถูกตั้งขึ้น เพื่ออธิบายถึงสาเหตุหรือเหตุผลว่าทำไมอาหารแถวนี้ถึงช่วยป้องกันอาการชักได้
- Dr. Atkins ตั้งสมมติฐานว่าคีโตนบอร์ดี้ มีคุณสมบัติป้องกันอาการชักอยู่แล้ว
- ลดการทำงานของเซลล์ประสาท สาเหตุจากปริมาณ คีโตนบอร์ดี้ที่สูง
- ผลของเซลล์ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่ถูกกระตุ้นผ่านทาง rapamycin pathway
ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีข้อสรุปที่แน่นอนว่าทำไมอาหารแนวนี้ถึงช่วยเรื่องอาการลมชักได้ แต่ปัจจุบันมันก็ถูกใช้ควบคู่กับยา ในศูนย์ที่เกี่ยวกับโรคลมบ้าหมูอยู่ทั่วโรค โดยประโยชน์อย่างหนึ่งก็คือ การลดการให้ยาและลดผลข้างเคียงของยา
ประสิทธิผล (ความได้ผล) ของอาหารคีโตนั้นอยู่ที่ 30-40% ในการลดอาการชัก มากกว่าอาหารควบคุมทั่วไป แต่อย่างไรก็ตามอุปสรรคหนึ่งก็คือการประยุกต์ใช้ที่ยาก เมื่อใช้กับเด็ก โดยมีจำนวนเด็กที่ขอออกจากโปรแกรมที่สูง
โดยย่อก็คือ อาหารคีโตนั้น มีหลักฐานสนับสนุนที่เยอะและมีการพิสูจน์แล้วว่าได้ผลด้วยกันในการดูแลทั้งหมด 4 โรค
- โรคอ้วนหรือน้ำหนักเกิน
- โรคหัวใจหรือโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ
- โรคเบาหวาน ประเภทที่ 2
- โรคลมบ้าหมู
ในตอนหน้าๆ เราจะมาคุยถึงโรคอื่นๆ ที่พึ่งจะมีหลักฐานหรืองานวิจัยใหม่ที่ถูกค้นพบ อาทิ สิว มะเร็ง PCOS เป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อหรือฮอร์โมนในร่างกายสตรี โรคเกี่ยวกับระบบประสาท โรคอัลไซเมอร์ โรคปากินสัน การบาดเจ็บทางสมอง โรคเอแอลเอส ALS และคุณสมบัติของอาหารคีโตต่อระบบหายใจ รวมถึงเราจะมาพูดถึงโอกาสเสี่ยงที่อาจเกิดจากอาหารแนวนี้ ในตอนต่อๆไปนะครับ
บทความนี้ได้รับการปรับแก้ไขจากงานตีพิมพ์เรื่อง Beyond weight loss: a review of the therapeutic uses of very-low-carbohydrate (ketogenic) diets ตีพิมพ์ในปี 2013 ในวรสาร European Journal of Clinical Nutrition ของ Paoli A. et al.